สืบสานตำนานล้านนา-เสริมสิริมงคลให้ชีวิต หริภุญไชยนคร หรือจังหวัดลำพูน ในปัจจุบัน เป็นจังหวัดที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนแห่งล้านนาไทย มีประวัติความเป็นมาถึง 1,400 ปี และมีองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในจังหวัดลำพูน และจังหวัดใกล้เคียง ทุก ๆ ปีเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หรือเดือน 8 เหนือ ชาวพุทธในภาคเหนือส่วนใหญ่ก็จะรู้กันว่า ช่วงนี้จะมีงาน ประเพณีสรงน้ำองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย หรือ ประเพณีแปดเป็ง ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ 28 เมษายน 2553 เป็นประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจ้าหริภุญชัย จึงเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของคนจังหวัดลำพูน และจังหวัดใกล้เคียง เจดีย์พระธาตุหริภุญชัย นอกจากจะเป็นจอมเจดีย์องค์หนึ่งในจำนวน 8 แห่งของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเจดีย์ประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดในปีระกา หรือปีไก่ อีกด้วย พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์ผู้ครองนคร ลำดับที่ 33 แห่งราชวงศ์จามเทวี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1440 ตามตำนานกล่าวว่าเมื่อครั้งสมัยที่ พระเจ้าอาทิตยราช ทรงครองราชย์อยู่นั้น พระองค์ทรงดำริให้สร้างปราสาทราชมณเฑียรไว้เป็นการเฉลิมพระเกียรติ แล้วจึงปลูกสร้างหอจันฑาคารที่ลงพระบังคน (ถ่ายทุกข์หนักและเบา) ไว้ใกล้กับปราสาทนั้น แต่ทุกครั้งที่พระ องค์จะเสด็จลงพระบังคนที่หอนั้น อีกาที่ทำหน้าที่เฝ้ารักษาพระธาตุไว้ มักบินมารบกวนเป็นที่น่ารำคาญอยู่เสมอ พระเจ้าอาทิตยราช จึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ช่วยกันทำบ่วงคล้องจับอีกาตัวนั้นแล้วนำไปขังไว้กับทารกแรกเกิดเป็นเวลา 7 ปี จนเมื่อทารกนั้นเติบโตขึ้น และสามารถพูดคุยกับอีกาได้ จึงได้ทรงทราบว่า สถานที่พระองค์ได้ทรงสร้างหอจันฑาคารนั้น เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ อุรังคธาตุ แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอดีตกาล พญากาเผือก ผู้เป็นอัยกา นี้ได้สั่งให้กาดังกล่าวเป็นผู้เฝ้ารักษาสถานที่นี้คอยป้องกันไม่ให้ผู้คนและสัตว์มาทำสกปรก เมื่อ พระเจ้าอาทิตยราช ได้ยินดังนั้นจึงโปรดให้รื้อถอนปราสาทราชมณเฑียรทั้งหลายแล้วสร้างพระบรมธาตุขึ้นโดยจัดงานสมโภชพระบรมธาตุตลอด 7 วัน 7 คืน ปัจจุบันองค์พระธาตุหริภุญชัยเป็นจอมเจดีย์องค์หนึ่งของประเทศไทย ที่มีอายุถึง 1,113 ปี
สำหรับในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือน 8 (เหนือ) ประชาชนชาวลำพูน ร่วมกับวัดพระธาตุหริภุญชัย คณะสงฆ์จังหวัดลำพูน และส่วนราชการจังหวัดลำพูน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โรงเรียนเมธีวุฒิกร และสมาคมศิษย์เก่าเมธีวุฒิกร ได้ร่วมใจจัดงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย ในงานประเพณีแปดเป็ง ซึ่งนับเป็นงานสม โภชประจำปีของจังหวัดลำพูน หรืองานประเพณีแปดเป็งของลำพูน เป็นงานเก่าแก่ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน จากความสำคัญของงานสรงน้ำดังกล่าว พระบาทสม เด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานน้ำสรง และผ้าห่ม พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา ได้แก่ ธูปเทียน น้ำอบน้ำหอม ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองมาถวายองค์พระธาตุเพื่อเป็นพุทธบูชาเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ทางจังหวัดลำพูน ยังมีพิธีตักน้ำทิพย์จากยอดดอยขะม้อ เพื่อนำมาร่วมในพิธีสรงน้ำพระธาตุด้วย โดยพิธีอัญเชิญน้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์จากดอยขะม้อ จะทำก่อนวันสรงน้ำพระธาตุ 3 วัน เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางไปร่วมงานสมโภชน้ำทิพย์ ที่บริเวณเชิงดอยขะม้อก่อนที่จะแห่ขบวนน้ำทิพย์ไปร่วมกับน้ำสรงพระราชทาน แล้วจึงแห่ขบวนกันไปสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย ที่บริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารอันเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย ในส่วนของกิจกรรมพิธีสรงน้ำองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย จะมีขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2553 ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (หรือเดือน 8 ของทางเหนือ) โดยตอนเช้าเวลา 07.00 น. จะมีพิธีทำบุญตักบาตรแด่พระสงฆ์และสามเณร จำนวน 199 รูป ณ บริเวณด้านเหนือพระวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย หลังจากนั้นเวลา 08.30 น. คณะข้าราชการจังหวัดลำพูน นำโดย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จะอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน และน้ำทิพย์ดอยขะม้อ พร้อมเครื่องสักการะ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ธูปเทียน ของหลวง ผ้าห่มพระธาตุ สีแดงและน้ำหอม จากพระวิหารหลวง เพื่อเข้าร่วมขบวนแห่ โดยปีนี้ขบวนแห่กำหนดเคลื่อนจากอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ผ่านถนนอินทยงยศเลี้ยวขวาแยกศาลากลางถนนอัฎฐารส ถนนรอบเมืองในเข้าสู่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เพื่อประกอบพิธี โดยจะประกอบพิธีถวายน้ำสรงพระราชทานในเวลา 10.00 น. มี ดร.ดิเรก ก้อนกลีบ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นผู้ชักรอกน้ำสรงพระราชทาน และ นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นำน้ำทิพย์ดอยขะม้อ ขึ้นสรงพระบรมธาตุหริภุญชัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา โดยมี พราหมณ์ประจำอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุ หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนำน้ำขมิ้นส้มป่อย ขึ้นสรงโดยวิธี ชักรอก เช่นกัน เมื่อเสร็จสิ้นพีธีสรงน้ำพระราชทาน และน้ำศักด์สิทธิ์แล้ว ในภาคบ่ายมีขบวน ครัวทาน แห่เข้าสู่บริเวณพิธี เพื่อสักการะพระบรมธาตุฯ โดยขบวนครัวทานแต่ละขบวนจะตกแต่งให้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ หรือมหาชาติ ที่ให้ข้อคิดคติธรรม ในแต่ละขบวนจะประ กอบด้วย ขบวนตุงธงทิว การแสดงศิลปะพื้นบ้าน การบรรเลงดนตรีพื้นเมือง ที่ครึกครื้นสนุกสนาน ให้ความบันเทิงแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพิธี สำหรับพุทธศาสนิกชน ผู้ได้เข้าร่วมประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย แล้วจะมีความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ เบิกบานที่ได้ร่วมกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่ในรอบปี ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย สืบสานตำนานอันยิ่งใหญ่แห่งล้านนา ร่วมสรงน้ำพระบรมธาตุศักดิ์สิทธิ์ เสริมมงคลในชีวิตให้แก่ตนเองและครอบครัว.
ชาญฤทธิ์ มณีจอม
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์