กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง มีพื้นที่ประสบภัย 60 จังหวัด ราษฎรประสบภัย 7,421,017 คน 1,982,861 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวม 319,388 ไร่... นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 19 เมษายน 2553 มีพื้นที่ประสบภัย 60 จังหวัด โดยแยกเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด ภาคกลาง 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 8 จังหวัด ราษฎรประสบภัย 7,421,017 คน 1,982,861 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวม 319,388 ไร่ โดยในปี 2553 มีหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งมากกว่าปี 2552 จำนวน 6,789 หมู่บ้าน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.89 ส่วนการให้ความช่วยเหลือ มีหลายหน่วยงานเข้าให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อันเกิดจากสภาวะอากาศแปรปรวนในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาวะอากาศแปรปรวน สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน และผลผลิตทางการเกษตรของประชาชน ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติในระยะ 3-4 วันนี้ และให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในเขตความรับผิดชอบ โดยจัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์ ด้านนายประจักษ์ สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติภัยแล้งไปแล้ว 26 อำเภอ194 ตำบล 2,117 หมู่บ้าน ซึ่งทางจังหวัดได้เร่งให้การช่วยเหลือ โดยการออกแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแล้วกว่า 20 ล้านลิตร และแม้ว่าในช่วงสัปดาห์นี้จะเกิดพายุฤดูร้อน ประกอบกับการที่ศูนย์ปฏิบัติฝนหลวงได้ออกปฏิบัติการทำฝนเทียม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำสำคัญๆ ของจังหวัด และทำให้มีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา แต่ยังไม่สามารถที่จะเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งเก็บน้ำต่างๆ ได้มากนัก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังคงมีน้อย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญๆใน จ.นครราชสีมา ทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ปริมาณน้ำ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 105.610 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากความจุทั้งหมด 314.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33.52 , อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำอยู่ที่ 47.060 ล้าน ลบ.ม.จากความจุกักเก็บ ทั้งหมดจำนวน 109.63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42.093 อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี ปริมาณน้ำอยู่ที่ 126.706 ล้าน ลบ.ม.จากความจุกักเก็บทั้งหมด 273 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35.31 และ อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำอยู่ที่49.793 ล้าน ลบ.ม. จากความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35.31 ส่วนนายบัณฑิต อินทร์ต๊ะ ผอ.โครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าแล้ง จ.พิษณุโลก ได้รับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในเขต อ.บางระกำ พื้นที่ ประมาณ 80,000 ไร่ จากโครงการชลประทานกำแพงเพชร โดยผันน้ำจากแม่น้ำปิง ผ่านระบบท่อทองแดง วังยาง หนองขวัญ ขณะนี้เหลือเพียงวันละ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังครั้งแรกไปแล้ว ขอให้งดการทำนาปรัง ครั้งที่ 2 อย่างเด็ดขาด สำหรับพื้นที่เพาะปลูกในเขต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ซึ่งติดกับ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ได้ผันน้ำจากแม่น้ำน่าน ผ่านเขื่อนนเรศวร ที่มีการทำนาครั้งที่1ไปแล้ว120,000 ไร่ ซึ่งมีการจ่ายน้ำได้อย่างเพียงพอ ส่วนการทำนาปรังครั้งที่2ขอให้งดเช่นกัน
ที่มา : ข่าวไทยรัฐ ออนไลน์