นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขา ธิการ กปร. เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในด้านวิชาการและด้านงบประมาณแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2553 ขึ้น เพื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2553 และแนวทางการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ด้านการศึกษา วิจัย และด้านการจัดการองค์ความรู้ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การประชุมได้แบ่งประเด็นหลักเป็น 2 เรื่อง คือ 1. ด้านวิชาการดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ด้านการศึกษาวิจัยควรมีแนวทางในการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) และควรศึกษาวิจัยในพื้นที่ที่มีปัญหา หรือพื้นที่จริงโดยมีขอบเขตการศึกษาวิจัย 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเพิ่มศักยภาพของหญ้าแฝก ได้แก่ การทนเค็ม การเพิ่มความแข็งแรงทนทานในการปลูก การขนส่ง การปรับปรุงดินเสื่อมโทรม และการศึกษาจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ด้านการใช้ประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดน้ำเสีย การลดมลพิษในดิน เป็นต้น ด้านการพัฒนาพันธุ์หญ้าแฝก และด้านเศรษฐศาสตร์และสังคม โดยให้รายงานผลการดำเนินงานศึกษาวิจัยมายัง สำนักงาน กปร. เพื่อรับทราบถึงความก้าวหน้าต่อไป สำหรับการจัดการองค์ความรู้ ควรดำเนิน งานตามกรอบแผน แม่บทฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) ให้มีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรมการใช้ประโยชน์หญ้าแฝก ที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐ วิทยากร เกษตรกร และนักเรียนนักศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรมที่จัดขึ้นควรมีความเชื่อมโยงการปฏิบัติของหน่วยที่เป็นมาตรฐานเดียวกันให้ประสานการดำเนินงานด้านวิชาการกับกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและจัดการองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีหญ้าแฝกด้านการบริหารจัดการ มีการดำเนินงานตามกรอบแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) ให้หน่วยงานที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลหญ้าแฝก แจ้งพิกัด ระวางพื้นที่ที่มีการปลูกหญ้าแฝกให้ชัดเจนไปยังกรมพัฒนาที่ดินเพื่อรองรับการจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ นายสุวัฒน์ รองเลขาธิการ กปร. กล่าว รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยเพิ่มเติมถึงการส่งเสริมและขยายผลการดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้วยว่า หน่วยงานซึ่งมีแผนงานโครงการเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนกล้าพันธุ์หญ้าแฝกจากกรมพัฒนาที่ดินต้องกำหนดระยะเวลาตำแหน่งพิกัดระวางและพื้นที่ที่จะดำเนินการปลูกหญ้าแฝกให้ชัดเจนเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ พร้อมรายงานผลการส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกตามแบบรายงานของกรมพัฒนาที่ดินและควรจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในสถาบันการศึกษาเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างเป็นระบบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดิน ทรงเล็งเห็นว่าดินเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญเช่นเดียวกับน้ำ จึงมีพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกซึ่งเป็นพืชที่มีคุณลักษณะพิเศษที่รากมีความยาวหยั่งลึกแผ่กระจายเป็นตาข่ายลงไปในดินเสมือนเป็นกำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต มาใช้แก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 โดยให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินสนองพระราชดำริโดยทำการศึกษา ทดลอง วิจัย และดำเนินการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน จนระยะเวลากว่า 20 ปี ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ผืนแผ่นดินไทยมาอย่างต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้ นายสุวัฒน์ รองเลขาธิการ กปร. กล่าว.
tidtangkaset@dailynews.co.th
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์