กี่ แซ่ม้า เกษตรกรชาวไทย เชื้อสายม้งวัย 45 ปี ที่กำลัง เดินอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ตรวจตราดูแลไร่มันฝรั่ง ซึ่งเขามีอยู่ 60 ไร่ที่ อ.พบพระ จ.ตาก ที่เขาปลูกมันฝรั่ง เนื่องจากการเข้าร่วม โครงการส่งเสริมเกษตรกรกับมันฝรั่งเลย์ ที่เข้ามาให้ความรู้กับเกษตรกรเรื่องการปลูกมันฝรั่ง และผลจากการที่เขาและครอบครัวช่วยกันลงน้ำพักน้ำแรงอย่างเต็มที่ ทำให้ไร่มันฝรั่งกลายเป็นขุมทรัพย์ที่พลิกชีวิตที่เคยยากลำบากในอดีต ให้กลับมาฟื้นและลืมตาอ้าปากได้ในปัจจุบัน แต่เดิม กี่ และชาวม้งอีกหลายครัวเรือน อาศัยอยู่ในบริเวณป่าห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร และทำไร่เลื่อนลอยเลี้ยงชีพมาเป็นเวลานาน แต่ต่อมาทางการเกรงว่าหากปล่อยให้มีการอยู่อาศัยและขยายพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยออกไปเรื่อย ๆ จะเป็นการบุกรุกทำลายป่าและธรรมชาติเพิ่มขึ้น จึงอพยพกลุ่มคนจากตรงนี้มาตั้งหลักปักฐาน ที่ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งเคยเป็นป่าเสื่อมโทรม แต่มีการพลิกฟื้นจนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรได้เป็นอย่างดี โดยตั้งหมู่บ้านให้อยู่ พร้อมจัดสรรที่ดินทำกินให้คนละ 20 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ทำไร่ 15 ไร่ ทำสวน 5 ไร่ ห้ามซื้อขาย หรือเป็นเจ้าของโดยสิทธิขาด กี่ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็นชาวไร่มันฝรั่งนั้น เคยทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานานนับสิบปี แรก ๆ ปลูกจำนวน 30 ไร่ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตที่ได้มาไม่คุ้มกับความเหนื่อยยากที่ลงทุนไป แต่ตอนนั้นมองแค่ว่า หากเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นอาจได้ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น จึงขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 100 ไร่ แต่ก็ยังเจอกับปัญหาเดิม ๆ
เราปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้แค่ปีละครั้ง เมื่อได้ผลผลิตออกมาก็มีราคาไม่แน่นอน เพราะไม่มีการรับประกันราคาให้กับเกษตรกร บางปีก็ดี บางปีก็ไม่ดี หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือกำไรแค่ 2-3 พันบาทต่อไร่เท่านั้น ถึงมีพื้นที่ปลูกเยอะไม่คุ้มกับค่าเหนื่อยที่ลงทุนลงแรงไป รายได้ไม่ค่อยเพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว ผมมีภรรยา และลูกอีก 3 คน ที่ต้องดูแล ลูก ๆ ก็ยังเรียนหนังสือ ตอนนั้นชีวิตก็ค่อนข้างลำบาก พยายามมองหาพืชไร่อื่น ๆ มาปลูกทดแทนบ้าง ก็ยังไม่ค่อยดีขึ้น กี่เล่าว่าทางเจ้าหน้าที่ของ บริษัทเข้ามาให้ความรู้ เช่น การเตรียมหัวพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ส่วนเกษตรกรต้องมีพื้นที่ของตนเอง และต้องมีการลงทุนในเรื่องของการเตรียมพื้นที่ แรงงานในการจัดการดูแลรักษา แรงงานในการเก็บเกี่ยว คิดเป็นเงินประมาณหมื่นกว่าบาทต่อไร่ ก่อนหน้านี้ผมไม่มีความรู้เรื่องการปลูกมันฝรั่งมาก่อนเลย เท่ากับเริ่มเรียนรู้จากศูนย์ ปีแรกของการเก็บเกี่ยว ผมพอใจกับผลผลิตของมันฝรั่งมากเพราะได้ถึง 3 ตันต่อไร่ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำได้ 3 ปีผมก็ฟื้นตัว พอเรามีความชำนาญในการปลูกมากขึ้นก็ได้ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ปีก่อน ผมปลูก 35 ไร่ มีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วประมาณ 3 แสนกว่าบาท ก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อยครับ ในปีนี้ผมได้ขยายพื้นที่ปลูกมันฝรั่งเป็น 60 ไร่แล้ว นายกี่เล่า สิ่งหนึ่งที่การปลูกมันฝรั่งทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ปีละหลายครั้ง คือ ในช่วงฤดูแล้ง ประมาณ เดือนพฤศจิกายน-ต้นมกราคม ส่วนในฤดูฝนเริ่มปลูกได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน คือ ถ้าปลูกเดือนพฤษภาคม ก็ไปเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนสิงหาคม ถ้าปลูกเดือนมิถุนายน ก็ไปเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน อย่างหน้าฝนจะมีช่วงของการปลูกได้ประมาณ4 เดือน ตอนนี้ชีวิตผมก็ดีขึ้น ครอบครัวมีความสุข ตอนนี้ผมมีกำลังพอที่จะส่งเสียให้ลูก ๆ เรียนหนังสือไปจนกว่าเขาจะไม่อยากเรียน ถ้าเรียนไปได้มาก ๆ แล้วกลับมาช่วยเราพัฒนาการปลูกมันฝรั่งต่อ เมื่อก่อนเราลำบากเพราะไม่มีความรู้ แต่พอมาเข้าโครงการนี้ชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถึงจะเหนื่อยแต่ก็ดีใจเพราะมีรายได้ที่มั่นคง ปีนี้เราคงเหนื่อยขึ้นเพราะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม แต่เมื่อคิดถึงผลตอบแทนแล้วก็หายเหนื่อยครับ นับเป็นหนึ่งตัวอย่างแห่งความสำเร็จของเกษตรกร..แต่กว่าจะมาประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ต้องอดทน ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และต้องรู้จักการที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จให้ได้ดั่งใจหวัง.
ที่มา : เดลินิวส์ ออนไลน์